นม (Milk)


นม เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนการสูงมาก แต่สำหรับบางคนแล้วเมื่อรับประทานนมเข้าไปอาจจะทำให้เกิดท้องเสียได้ โดยเฉพาะคนแถบเอเซีย เช่น ไทย ลาว พม่า กัมพูชา เป็นต้น เนื่องจากคนเอเชียเมื่อมีอายุมากกว่า 5 ปี ถ้าไม่ได้บริโภคนมอย่างต่อเนื่องแล้ว เอนไซม์ที่ใช้ในการย่อยน้ำตาลแล็กโตสในนมจะหมดไป ดังนั้นเมื่อไม่มีเอนไซม์ย่อยน้ำตาลในนม เมื่อดื่มนมเข้าไปน้ำตาลไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ กลับไปเป็นอาหารให้กับจุลินทรีย์ในลำไส้จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการท้องเสียเมื่อรับประทานนมนั่นเอง การแก้ปัญหาดื่มนมแล้วท้องเสียง่ายนิดเดียว เพราะว่าเอนไซม์ที่ใช้ในการย่อยน้ำตาลในนมนั้น ร่างกายสามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้ เพียงแต่ต้องได้รับการกระตุ้นจากการดื่มนมก่อน ดังนั้นถ้าต้องการรับประทานนมแล้วไม่เกิดอาการท้องเสีย ปวดท้อง ให้เริ่มต้นจากการรับประทานนมทีละน้อย คือ ครั้งแรกให้ดื่มนมเพียงครึ่งแก้วก่อน ดื่มต่อเนื่องทุกวันประมาณหนึ่งสัปดาห์ ร่างกายก็จะทำการผลิตเอนไซม์สำหรับย่อยน้ำตาลในนมออกมา พอเราดื่มนมในครั้งต่อไปเราก็จะไม่ท้องเสียอีก
ผลิตภัณฑ์นม

ผลิตภัณฑ์นม (Dairy Products)

ผลิตภัณฑ์นม (Dairy Products) คือ ส่วนประกอบใดๆก็ตามที่มีการแปรรูปจากนม นม (Milk) เป็นอาหารที่ทรงคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก เมื่อเราคลอดจากครรภ์มารดา นมคืออาหารชนิดแรกที่เราได้รับเข้าสู่ร่างกาย นม มีลักษณะเป็นของเหลวสีขาวขุ่นมีโครงสร้างเป็นอิมัลชั่น (Emulsion) นั่นคือ น้ำนมจะประกอบด้วยไขมันนม (Butter Fat) ที่มีลักษณะเป็นหยดเล็กๆ กระจายตัวอยู่ในน้ำ ไขมันนมนี้จะไม่ละลายเป็นเนื้อเดียวกับน้ำ แต่ก็จะไม่รวตัวกันจน  เกิดการแยกชั้น นมเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายสูงมากเพราะมีสารอาหารหลักครบทั้ง 5 หมู่ ในน้ำนมจะประกอบไปด้วย
1.โปรตีน โปรตีนที่อยู่ในน้ำนมประกอบไปด้วยกรดอะมิโนหลายชนิด ซึ่งโปรตีนที่ได้จากนมจะมีกรดอะมิโนทั้งที่จำเป็นต่อร่างกายและกรดอะมิโนที่ไม่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายก็คือกรดอะมิโนที่ร่างกายไม่สามารถผลิตขึ้นมาเองได้ หรือที่เราเรียกว่า เอสเซนเซียล อะมิโนเอซิด (Assential Amino Acid) เช่น ลิวซีน เวลีน ไอโซลิวซีน เมทีโอนีน ทริปโตเฟน อาร์จินีน (Arginine) เป็นต้น โปรตีนที่พบในน้ำนมประมาณ 80% จะเป็นเคซีน (Casein) โปรตีนที่มีอยู่ในนมจะช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกายได้เป็นอย่างดี
2.ไขมันนม (Butter Fat) นมมีส่วนประกอบที่เป็นไขมันเรียกว่า ไขมันนมหรือมันเนยซึ่งไขมันนี้จะอยู่ในรูปของไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) ไขมันนมจัดเป็นแหล่งให้พลังงานของนม ซึ่งให้พลังงานที่สูงมาก โดยมันเนย 1 กรัมจะให้พลังงานกับร่างกายถึง 9 แคลอรี่เลยทีเดียว
3.น้ำตาลนม (Milk Sugar) นมประกอบด้วยน้ำตาลแล็กโทสเป็นหลัก ซึ่งน้ำตาลแล็กโทสเมื่อย่อยแล้วจะได้น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวคือ น้ำตาลกลูโคส (Glucose) หนึ่งโมเลกุลและน้ำตาลกาแล็กโทส (Galactose) หนึ่งโมเลกุล ซึ่งน้ำตาลทั้งสองนี้เป็นแหล่งพลังงานให้กับร่างกายเช่นเดียวกับไขมันนม
4.วิตามิน นมอุดมไปด้วยเกลือแร่และวิตามินหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 ไนอะซิน (Niacin) กรดโฟลิก วิตามินซี วิตามินดี วิตามินเค แคลเซียม และ ฟอสฟอรัส ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟันของร่างกาย แคลเซียมที่ได้จากนมยังช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในคนที่เป็นโรคอ้วน เนื่องจากแคลเซียมจะเข้าไปช่วยลดกรดน้ำดีที่ผลิตจากไขมัน ทำให้กรดน้ำดีที่ผลิตออกมาจากไขมันส่วนเกินมีปริมาณลดลง น้ำดีจึงไม่สามารถเข้ามาทำร้ายลำไส้ให้เกิดการระคายเคืองหรือเกิดการอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เซลล์เกิดการกลายพันธุ์กลายเป็นเซลล์มะเร็งที่ลำไส้ได้
5.น้ำ เป็นส่วนประกอบหลักของนม นมมีน้ำอยู่ประมาณ 85% น้ำมีหน้าที่เป็นตัวทำละลายสารอาหาร วิตามิน น้ำตาล ไขมันนมให้รวมอยู่ด้วย เมื่อเรารับประทานนมเข้าสู่ร่างกาย นอกจากจะได้สารอาหารแล้วร่างกายยังได้รับน้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับเซลล์ภายในร่างกายอีกด้วย


การแปรรูปผลิตภัณฑ์นม